หลายคนอาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเว็บโฮสติ้ง พอถึงเวลาที่จะต้องเลือกแพ็คเก็จและผู้ให้บริการก็เกิดอาการลังเลหรือเลือกไม่ถูกว่าจะเอาแบบไหน (บางคนอาจจะไม่รู้ว่าด้วยซ้ำว่าควรจะเริ่มต้นจากตรงไหน) มาดูกันว่าก่อนที่จะตัดสินใจเลือก เราควรจะคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง
1.ใช้พื้นที่เก็บข้อมูลมากไหม คนเข้ามาใช้เยอะหรือเปล่า?
สิ่งที่มากับบริการเว็บโฮสติ้งค์ก็คือ “พื้นที่สำหรับเก็บข้อมูล (Disk Space)” ซึ่งมีไว้ให้เราเก็บทุกสิ่งอย่างที่มีในเว็บไซต์ตั้งแต่ไฟล์ text, รูปภาพ, วิดีโอ, อีเมลล์ ฯลฯ และ “ปริมาณการถ่ายโอนข้อมูล (Data Transfer)” ซึ่งก็คือการดาวน์โหลดหรืออัพโหลดขอมูลบนเว็บไซต์ (คิดเป็นต่อเดือน) เช่นเรามีไฟล์ภาพในเว็บขนาด 1 MB เวลามีคนเข้ามาดูรูปนี้ก็จะคิดเป็น 1MB และถ้าเขากด save รูปก็จะคิดเพิ่มรวมเป็น 2 MB ตัวอย่างเช่น แพ็คเก็จ A มีพื้นที่เก็บข้อมูลให้ 1 GB และถ่ายโอนข้อมูลได้ 10 GB ต่อเดือน เป็นต้น ดังนั้นนี่จะใช้เป็นมาตรฐานในการเลือกแพ็คเก็จได้ โดยเลือกให้สอดคล้องกับเว็บไซต์และความต้องการของเรา หากเป็นเว็บเล็กๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกแพ็คเก็จที่ให้พื้นที่เก็บข้อมูลเยอะ แต่ถ้าเป็นเว็บที่มีคนเข้า-ออกเยอะอยู่เสมอก็ควรเลือกแพ็คเก็จที่รองรับ Data Transfer สูงสักหน่อย อีกอย่างที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษคือมีบางแพ็คเก็จที่ระบุว่าไม่จำกัดจำนวนปริมาณการถ่ายโอนข้อมูล แต่จริงๆ แล้วจะมีเงื่อนไขซ่อนอยู่ดังนั้นเราควรตรวจเช็คอยู่ให้ละเอียด ไม่เช่นนั้นอาจจะเจอค่าปรับที่บางทีอาจจะแพงกว่าค่าบริการเสียอีก
2.เซิฟเวอร์ตั้งอยู่ที่ไหน?
ตำแหน่งของเซิฟเวอร์นั้นมีผลต่อความเร็วของเว็บไซต์ ดังนั้นถ้าจะให้ดี ควรเลือกเซิฟเวอร์ที่มีอยู่ในโซนเดียวกันกับกลุ่มเป้าหมายของเว็บ เช่นถ้าเราทำเว็บที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในกรุงเทพหรือประเทศไทยก็ควรเลือกผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งค์ที่มีเซิฟเวอร์อยู่ในไทยเพราะมันจะทำให้เว็บของเราโหลดได้เร็วกว่าการใช้เซิฟเวอร์ที่อยู่ต่างประเทศ
3.บริษัทน่าเชื่อถือขนาดไหน?
ข้อนี้ก็ถือว่าสำคัญเพราะมีบางคนอาจจะเคยเจอเคสแบบนี้ที่อยู่ดีๆ ผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งก็ปิดบริษัทแล้วหอบเงินหนีไปซะดื้อๆ (เพราะไม่มีสัญญาผูกมัด เมื่อมีลูกค้าเยอะ ได้เงินเยอะแล้ว เลยเผ่นซะเลย) นี่จะทำให้ธุรกิจเราก็ต้องชะงักลงเพราะเว็บก็เข้าไม่ได้เนื่องจากไม่มีเซิฟเวอร์แล้ว นอกจากจะเสียเงิน เรายังต้องเสียเวลามาหาบริษัทใหม่อีก ดังนั้น ควรจะเช็คแบ็คกราวด์ของผู้ให้บริการให้ดีเสียก่อน เช่นเคยมีประสบการณ์การทำธุรกิจด้านนี้มาก่อนไหม เปิดบริษัทเมื่อไหร่ ทีมเป็นยังไง (หาช่องทางติดต่อเช่นเบอร์โทร ฯลฯ ไว้ให้เรียบร้อย) ไม่งั้นอาจจะมานั่งเสียใจภายหลังก็ได้
4.ใช้งานบนมือถือได้ไหม?
สมัยนี้ใครๆ ก็ทำงานผ่านมือถือได้แล้ว มันจะดีและสะดวกมากถ้าโฮสติ้งที่เราเลือกสามารถรองรับการใช้งานบนมือถือได้ เช่นสามารถเข้าเว็บหรือรับ-ส่งอีเมลล์ได้
5.เวลามีปัญหาจะช่วยเราได้ไหม?
บริการหลังการขายนี่แหล่ะจะเป็นเครื่องวัดอีกอย่างว่าบริษัทเว็บโฮสติ้งนั้นดีงามและสมบูรณ์แบบขนาดไหน ส่วนใหญ่แล้วถ้าซื้อแพ็คเกจต่ำสุด (โดยเฉพาะเว็บโฮสติ้งที่ไม่อยู่ในไทย) การแจ้งปัญหาการใช้งานมักจะแจ้งได้ผ่านทางอีเมลล์หรือระบบ ticket system เท่านั้น ไม่ว่าจะจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหนก็ทำได้ดีที่สุดแค่นี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีบางเจ้าที่เน้นเรื่องบริการหลังการขายจึงมีการจัดสายตรงเพื่อรองรับปัญหาทางด้านนี้แต่ความช้า-เร็วในการแก้ไขก็อาจจะขึ้นอยู่กับประเภทของแพ็คเก็จด้วย เช่น แพ็คเก็จเริ่มต้นอาจจะใช้เวลาในการตอบสนอง 12 ชั่วโมงแต่แพ็คเก็จสูงสุดอาจจะแก้ไขให้ได้ภายใน 2 ชั่วโมง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องช่างเทคนิคก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเพราะมีหลายที่ที่เวลาเกิดปัญหามาแล้วคุณโทรไปสอบถาม เจ้าหน้าที่ก็มักจะตอบว่าเป็นปัญหาทางเทคนิคหรือพอถามเชิงลึกหน่อยก็ตอบไม่ได้ แล้วคุณจะรู้ได้ยังไงว่าเจ้าไหนดีไม่ดี ก็ต้องหาข้อมูลสักหน่อย เช่นหารีวิวหรือสอบถามจากกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้บริการ